เผยเคล็ดลับ! เฟม ภูบดี ที่ 1 ประเทศ ฟิสิกส์ 9 สามัญ ปี 64 คะแนน 97/100 | AT HOME

Home > Uncategorized > เผยเคล็ดลับ! เฟม ภูบดี ที่ 1 ประเทศ ฟิสิกส์ 9 สามัญ ปี 64 คะแนน 97/100 | AT HOME
เขียนโดย :
โพสต์เมื่อ :

อ่านสรุปตรงนี้ได้เลย

ภูบดี วงษ์เซ็ง หรือพี่เฟม นิสิตคณะแพทย์จุฬาฯ TOP ที่ 1 ประเทศฟิสิกส์วิชาสามัญ 97/100 PAT1 294/300 เลขสามัญ 86/100 ชีวะสามัญ 80/100 เคมีสามัญ 82/100 และคะแนนรวม 78.77 บทความนี้พี่เฟมมีเทคนิคเตรียมตัวสอบแต่ละสนามมาบอกต่อ หรือถ้าใครอยากรู้ว่าข้อสอบปี 64 เปลี่ยนแนวยังไง ต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง ขอบอกเลยว่าบทความนี้ห้ามพลาด! 

เล่าประวัติแบบคร่าว ๆ

ผมอยู่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนมาตั้งแต่ ป.1 – ม.6 เลยครับ จริง ๆ แล้วตอน ป.6 มีไปสอบที่อื่นด้วย แต่ว่าไม่ติดก็เลยอยู่ที่นี่ยาวถึง ม.6 เลยครับ ตอนนั้นอยากเข้าสวนกุหลาบแล้วก็สาธิตปทุมวันครับ

ตอนมัธยมตั้งความหวังกับคะแนนไหม?

จริง ๆ มัธยมก็ยังชิลอยู่ ติดเกม เล่นเกมงอมแงม ไปเที่ยวไปนู่นไปนี่

เฟมรู้ตัวว่าอยากเป็นหมอตั้งแต่เมื่อไหร่?

ตอนแรกผมอยากเข้าวิศวกร แต่รู้สึกว่าฟิสิกส์ ม.ปลาย เรียนได้ยังพอเข้าใจ แต่ลึก ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น เราชอบชีวะ แล้วก็เคมี ก็เลยรู้สึกว่าวิศวกรน่าจะไม่ใช่ทางของเราเท่าไหร่ ไปหมอน่าจะเวิร์คกว่า

แต่คะแนนฟิสิกส์ของเราเยอะมาก

ม.ปลาย เนื้อหาไม่ได้ลึกมากก็เลยพอเรียนไหว แต่ถ้าเข้าไปข้างในวิศวะน่าจะใช้หนัก ใช้เยอะ ผมก็เลยอาจจะไม่ค่อยไหว น่าจะเน้นพวกประยุกต์ คือมันจะมีความถนัดทางวิศวะ ผมก็เคยลองเรียนดูบ้างแล้วไม่ค่อยใช่ทางผมเท่าไหร่

เตรียมตัวสอบหมอตั้งแต่ตอนไหน?

ตอนขึ้น ม.4 ยังชิลอยู่ แต่เริ่มไม่ชิลตอนอยู่ ม.4 เทอม 2 วางแพลนแล้วว่าจะเรียนอะไรบ้าง อย่างตอนนั้นเราอยากเข้าวิศวะ ก็จะวางแพลนแค่เข้าวิศวะอย่างเดียว ต้องเรียนอะไรบ้าง พอขึ้น ม.5 ก็รู้สึกว่าตัวเองอยากเข้าหมอก็เปลี่ยนแพลนใหม่หมดว่าเป็นอะไรยังไง 
ตอนจะสอบเข้าวิศวะมีแพลนเตรียมตัวยังไงบ้าง?

แพลนตอนจะสอบวิศวะเป็นยังไง

ตอนแรกที่จะเข้าวิศวะวิชาที่ใช้จะมีเคมี ฟิสิกส์ เลข แล้วก็อังกฤษ คือผมกะจะเก็บเคมีก่อนเลยแล้วค่อยไปเก็บฟิสิกส์กับตัวอื่น ๆ ทีหลัง ตอนแรกผมก็วางคร่าว ๆ แค่นี้ก่อนเพราะผมชอบเคมีมาก ก็เก็บไปได้เกือบจบแล้วครับ ก็มาเปลี่ยนแพลนว่าอยากจะเข้าหมอ แพลนที่วางไว้ก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย

แล้วพอจะเข้าหมอเตรียมตัวยังไงบ้าง?

เนื้อหาทุกอย่างเกือบทุกตัว ยกเว้นไทยกับสังคมแล้วก็อังกฤษด้วย จะเก็บ ม.4 – ม.6 ให้จบก่อนขึ้น ม.6 แล้วค่อยไปตะลุยคอร์สโจทย์ คอร์ส Entrance ตอนช่วง ม.6 แล้วก็ฝึกทำโจทย์ไปด้วย

‘เพื่อน’ มีผลกับการตัดสินใจเลือกคณะไหม?

เพื่อนไม่ค่อยมีผลนะครับ เพราะว่าเพื่อนส่วนใหญ่ประมาณ 80% คือเข้าวิศวะหมดเลย นิดเดียวเองที่ไปเข้าหมอด้วยกัน เรียนที่กรุงเทพคริสเตียนส่วนใหญ่มันไม่ได้แข่งขันเรื่องวิชาการกันขนาดนั้น จะไปเข้าวิศวะกันมากกว่า คือเข้าหมอบางคนแค่เตรียมตัวก็ถอดใจแล้วอะ วิชามันเยอะมาก หลายคนเลยไม่เอาหมอไปเอาวิศวะอย่างนี้ครับ

ตัดสินใจนานไหมที่เลือกเข้าหมอ?

ก็นานพอสมควรเหมือนกันครับ มันก็ไม่ใช่ง่าย ๆ เหมือนกัน หมอมันตั้งหลายวิชา ตั้ง 7 วิชา ความถนัดแพทย์อีกอะไรมันก็เยอะแยะไปหมดเลย

ข้อสอบฟิสิกส์ปี 64 เป็นยังไงบ้าง?

ฟิสิกส์จริง ๆ ปีนี้มันก็มีบทใหม่ด้วย ไปเจอจริง ๆ แล้วมันก็มีเนื้อหาบทใหม่เหมือนกัน ส่วนตัวผมว่าก็โชคดีเหมือนกันเดาตัวเนื้อหาใหม่ถูก ทำได้ ตอนก่อนที่จะออกจากห้องสอบก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้เท่านั้นจริง ๆ (หัวเราะ) มีเนื้อหาใหม่ด้วย แบบทฤษฎีจ๋า ๆ มาออกเลยก็มีเหมือนกัน งงกันหมดครับ ถ้าไม่ได้อ่านพวกหนังสือ สสวท. มา ส่วนชีวะเป็นวิชาที่ทำได้เรื่อย ๆ อยู่แล้ว ถ้าทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ข้าม ปี 64 ผมว่าค่อนข้างง่ายกว่า 63 พอสมควร 

ได้เตรียมทฤษฎีไปไหม?

ไม่ได้เตรียมครับ ผมรู้สึกว่าเขาจะหยิบตรงไหนมาออกก็ได้ การที่เราไปอ่านจะเรียกว่าเสียเวลาฟรีก็ได้เพราะถ้าอ่านแล้วมันไม่ออกบวกกับเนื้อหามันกว้างมาก ๆ มันไม่คุ้มเลยกับข้อสองข้ออะไรแบบนี้ สู้เราไปเดาดีกว่าเผื่อถูกแล้วฟลุ๊ค กำไรกว่าอีก

เคล็ดลับในการเรียน

อยากให้วางแผนก่อนว่าเราจะเก็บเนื้อหายังไง เก็บเนื้อหาตรงไหนไปบ้างแล้ว เก็บอะไรไปบ้างแล้ว ทุกครั้งที่เราเรียนเสร็จเราควรจะกลับมาอ่านทบทวนที่บ้านด้วย ไม่ใช่ว่าเรียนแต่ในห้องเรียนแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ เราควรจะกลับมาอ่านหนังสือทบทวนทุกครั้ง เพราะว่ามันจะช่วยให้ความจำของเราดีขึ้น ทำโจทย์ก็ทำได้ง่ายขึ้น พอเรามีความรู้พื้นฐานที่มันค่อนข้างแน่นแล้ว จะทำให้การทำโจทย์มันง่ายขึ้นมาก ๆ

เริ่มตะลุยโจทย์ตั้งแต่ตอนไหน?

ลุยโจทย์ตั้งแต่ปิดเทอมขึ้น ม.6 เพราะด้วยโจทย์ส่วนใหญ่มันก็จะเป็นเนื้อหาใหม่ ก็ทำโจทย์ ทำไปเรื่อย ๆ

เรามองว่าการฝึกทำข้อสอบเก่าสำคัญไหม?

ถ้าเราทำข้อสอบเก่า บางคนเขามองว่าไม่ค่อยสำคัญแล้ว แต่ผมอยากจะบอกว่ามันสำคัญ เพราะว่าข้อสอบเก่ามันเป็นตัวที่ทำให้เรารู้ขอบเขตเนื้อหาการออกข้อสอบของเขา ว่าเป็นยังไง จริง ๆ เราทำไปก็ไม่ได้เสียหายอะไรอยู่แล้ว มันก็เหมือนเป็นการเสริมความรู้ของเราในจุดที่เราไม่รู้ เป็นการฝึกฝนการทำข้อสอบด้วย

แล้วข้อสอบ Unseen ล่ะ?

ถามว่าดีไหม มันก็ดี อย่างตอนที่เราไปทำข้อสอบ ข้อสอบ 9 วิชาฯก็จะเป็นข้อสอบ unseen แต่แค่อยู่ที่ว่า unseen ที่เราไปเจอในห้องสอบเราจะสามารถประยุกต์ได้ไหม เอาความรู้ที่เราเรียนมาไปทำได้ไหม ซึ่งถ้าเกิดเราได้ฝึก unseen ไปก่อนหน้านั้นมันก็อาจจะไปฝึกประยุกต์ในห้องสอบได้เหมือนกัน

เรียนฟิสิกส์กับป๋ามัก เป็นยังไงบ้าง?

ผมชอบสไตล์ป๋ามาก คือโจทย์จะไม่เยอะมาก แต่วิธีเฉลยของแกจะค่อนข้างมีเทคนิคที่มองง่าย ทำให้ฟิสิกส์มันดูง่ายมาก ๆ คือเรามองในมุมมองของป๋าเราก็รู้สึกว่าทำอย่างนี้มันง่ายกว่า พอมองอย่างนี้มันไปประยุกต์กับโจทย์อื่น ๆ ได้ง่ายกว่า ผมก็เลยเข้าไปที่คลิปต่าง ๆ ของป๋า พวกความจำต่าง ๆ ป๋าจะไม่ค่อยให้จำเยอะ จะเน้นให้ไปประยุกต์เอา

เรามองว่าการวางพื้นฐานฟิสิกส์ที่ดีเป็นจุดสำคัญ?

ด้วยครับ ผมว่าเป็นส่วนสำคัญเลย ม.6 ได้พื้นฐานจากป๋ามาต่อเติมความสมบูรณ์ในการทำโจทย์ คือโจทย์พวกนี้จะอาศัยพื้นฐานต่าง ๆ ที่เราเรียนมาประยุกต์ใช้กับโจทย์ที่มันยากขึ้นอะไรพวกนี้ครับ

เรียนฟิสิกส์อร์สไหนบ้าง?

เรียน Basic Physics ครับ ม.4 – ม.6 ทั้งหมดเลย

เรียนคอร์ส BASIC จบตอนไหน?

จบ BASIC ผมว่าไม่ ม.5 เทอม 1 ก็เทอม 2 นั่นแหละครับ พอเรียนจบแล้วก็เรียน Entranceของป๋าไปเลย

คอร์ส BASIC กับ ENTRANCE แตกต่างกันอย่างไร?

BASIC ป๋าจะสอนทุกอย่าง ทุกหัวข้อ ทุกเนื้อหา ทุกบท พอมาคอร์ส Entrance ป๋าเขาจะคัดว่าหัวข้อนี้ต้องเน้นนะ หัวข้อนี้ออกข้อสอบบ่อย จะไม่ได้ลงรายละเอียดทุก ๆ หัวข้อเพราะว่าไม่ได้ออกข้อสอบทุกหัวข้อ ออกข้อสอบแค่บางหัวข้อ เป็นหัวข้อ ๆ ไป เหมือนแบบว่าฟิสิกส์ก็คือตอนเจอโจทย์ฟิสิกส์ครั้งแรก เหมือนเปิดโลกฟิสิกส์เลยครับ แต่พอมาเรียนคอร์ส Entrance มันก็เหมือนทบทวนความรู้ครั้งที่สองก็จะมีกำลังใจว่า เราเคยเจอแบบนี้มแล้วนะ เราเคยเรียนมาแล้ว เคยผ่านมาแล้ว แล้วเวลาทำเราก็รู้สึกว่าเราก็น่าจะทำได้นะ มันจะมีกำลังใจมากกว่าในการเรียนคอร์ส Entrance

ถ้าน้องไม่เคยเรียนคอร์ส BASIC เรียน ENTRANCE ได้ไหม?

พอไหวนะครับ แต่แค่อาจจะต้องตามป๋าให้ทันหน่อย เพราะวิธีที่ป๋าสอนผมคิดว่าไม่เหมือนคนอื่น ที่ป๋าสอนมันใช้การมองฟิสิกส์ให้ง่าย ๆ คือป๋าเขาจะมีคอนเซ็ปอะไรนะครับ อืม…พูดฟิสิกส์เป็นภาษาคน อะไรสักอย่าง ก็จริงนะ คือเขาก็พูดออกมาให้มันง่ายมาก ๆ แต่คือถ้าเกิดไม่เคยเรียนมาก่อนแล้วไปเรียน ผมว่าก็น่าจะพอไหวนะครับ แกก็สอนใหม่หมด

เรียนฟิสิกส์กับป๋ามักเกรดที่โรงเรียนเป็นไงบ้าง?

เกรด 4 ครับ ฟิสิกส์มันไม่ได้ยากเท่ามหาลัย ที่โรงเรียนจะค่อนข้างทำเกรดง่ายกว่า

ม.6 ก็ยังทำเกรดในโรงเรียนอยู่ไหม?

ตอน ม.6 ผมเทเยอะ ผมเอาเวลาไปทำโจทย์ข้างนอก GPAX ก็เลยไม่ได้ซีเรียส

แล้ววิชาเลขเริ่มเรียนตั้งแต่ตอนไหน?

จริง ๆ เป็นวิชาแรก ๆ เลยที่ผมเรียนตั้งแต่ ม.4 ตอนแรกผมจะเรียนกลุ่มย่อยก่อนปูพื้นฐาน มีมาเสริมประมาณช่วง 3 – 4 เดือนก่อนสอบผมมาเรียนของพี่ตุ้ยคอร์ส กสพท. ครับ

คอร์ส กสพท. ของพี่ตุ้ยเป็นอย่างไรบ้าง?

ผมว่ามันก็โอเคนะครับ ด้วยปีนี้หลักสูตรของผมมันทีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เอาเนื้อหาใหม่ออกมา เอาเนื้อหาเก่าออกไป ซึ่งโจทย์เรื่องใหม่ ๆ หาทำได้ยาก ผมก็มาเก็บประสบการณ์จากเล่มนี้เอา เล่มนี้มีโจทย์บทใหม่มาให้เราฝึกทำ

โจทย์ Unseen ดีไหม?

โจทย์ unseen ของพี่ตุ้ยผมว่ามันดีมาก ผมไม่เคยเจอมาก่อนเลยจริง ๆ ก็จะอึ้ง ๆ หน่อยว่ามันต้องทำอะไรยังไงต่อ ผมว่าดีมาก ๆ แล้ววิธีการเฉลยของพี่ตุ้ยก็โอเค แกจะทำให้ดูหลายวิธี ทำให้ตอนไปสอบจริงเราเลือกได้ว่าเราถนัดวิธีนี้นะ เราก็จะเอาวิธีนี้ไปใช้ได้

ตั้งใจสอบหมอยังเตรียมตัวสอบ PAT1 ไหม?

มีเตรียมครับ คือทำข้อสอบเก่าย้อนหลังไปเกือบทุกชุด ก็มีเตรียมตัวไปครับ

เจอข้อสอบ PAT1 รู้สึกอย่างไรบ้าง?

ข้อสอบ PAT1 ข้อแรกส่วนใหญ่มันจะเป็นเซ็ตกับตรรกศาสตร์ แต่ว่าพอไปเปิดข้อสอบจริง ๆ มันไม่ใช่เซ็ตกับตรรกศาสตร์ ถ้าผมจำไม่ผิดรู้สึกจะเป็นแคลรึเปล่า ผมไม่แน่ใจนะครับ ทุกคนก็คือน่าจะช็อคกันหมด เพราะเปิดมาข้อแรกไม่ใช่แบบเดิมที่เคยเจอ ส่วนตัวผม ผมมองว่าผมโชคดีเพราะผมเจอแบบนี้แล้ว ผมก็เลยพลิกไปทำส่วนเติมคำก่อน ซึ่งส่วนเติมคำมันมีแนวคล้าย ๆ ข้อสอบเดิมอยู่บ้าง เวลาเราทำมันก็จะโฟลวด์ไปเรื่อย ๆ แล้วค่อยมาเก็บตัวพาร์ทข้างหน้าที่มันเป็นเนื้อหาใหม่ ที่มันงง ๆ พอทำแบบนี้ก็ทำให้มันไปลดเวลาที่เราจะเสียไปกับช่วงแรก ๆ บวกกำลังใจที่เราจะคิดว่าพาร์ทแรก ๆ เราทำไม่ค่อยได้แล้วก็จะเสียสมาธิตอนหลังอีก ทำให้ภาพรวมออกมามันก็จะยิ่งเละไปหมดเลย พอเราทำด้านหลังได้แล้วมาทำข้างหน้า ที่เป็นปรนัยก็จะมีกำลังใจในการทำมากขึ้นประมาณนี้ครับ

ตอนเห็นข้อสอบช็อคไหม?

ช็อคครับ ช็อคมาก เพราะนอกจากจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการวางตัวข้อสอบแล้ว เนื้อหาข้างในก็เปลี่ยนอีก เป็นแบบประยุกต์ อ่านโจทย์รอบแรกก็ต้องอ่านรอบ 2 รอบ 3 อีก งงกับโจทย์เพราะไม่เคยเจอมาก่อน โจทย์มันยาวมาก แล้วก็ตัวที่มาออกข้อสอบไม่เคยมีมาก่อนในปีก่อน ๆ หน้านี้ ทำให้เวลาทำจะต้องนึกออกมาก่อนวันอันนี้มันอยู่บทไหน ต้องทำยังไง

แล้วความรู้ที่เรียนมาเอามาประยุกต์ใช้ได้ไหม?

มันก็ได้ครับ เพราะโจทย์พื้นฐานก็เอามาประยุกต์กับโจทย์ที่มันเป็นแนวใหม่ที่เพิ่งออกมาได้เหมือนกัน

ข้อสอบเคมีเปลี่ยนแนวด้วยไหม?

อันนี้ก็ช็อคเหมือนกันเพราะว่าตอนเปิดข้อสอบไปทำคนอื่นเขาบอกว่าไม่ค่อยเปลี่ยนแนว แต่สำหรับผม ผมว่ามันไม่ค่อยคล้ายเดิมเท่าไหร่ในบางข้อ ผมทำไม่ค่อยได้ด้วย ตอนแรกผมไม่คิดว่าคะแนนจะถึงขนาดนี้ ไม่รู้เขาตรวจข้อสอบเราผิดหรือเปล่า ทำไมคะแนนมันถึงสูงขนาดนี้ เคมีผมเดาไปเยอะมากพอสมควร ตอนคะแนนออกมาก็เลยค่อนข้างช็อค เพราะไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้

ชีวะเตรียมตัวตั้งแต่ตอนไหน?

เป็นวิชาแรก ๆ เหมือนกันที่เริ่มเรียน เพราะเนื้อหาเยอะแล้วต้องใช้เวลาเก็บที่ค่อนข้างนาน

วิชาภาษาอังกฤษเป็นยังไงบ้าง?

จริง ๆ ไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่รู้สึกจะเป็นวิชาที่ด้อยที่สุดแล้วจากทั้งหมด ถามว่าชอบเรียนไหม ชอบเรียน แต่ทำข้อสอบคือไม่ค่อยอยากทำเท่าไหร่ reading passage มันเยอะครับ

ภาษาอังกฤษเตรียมตัวยังไง?

เน้นท่องจำศัพท์ ฝึกอ่าน Passage บ้าง อังกฤษผมเก็บไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยเป็นกังวล มั้ง ไม่ ไม่ สรุปว่าเป็นกังวล (หัวเราะ) ก็เก็บมาเรื่อย ๆ ถึงเวลาสอบก็ทำเต็มที่เท่าที่ทำได้

ไทย-สังคม เริ่มเรียนตอนไหน?

สังคมผมเริ่มประมาณกรกฎา ส่วนไทยผมเริ่มประมาณต้นเดือนมกรา ก่อนสอบประมาณ 3 – 4 เดือน

เตรียมตัวกับวิชาสังคมยังไงบ้าง?

เนื้อหามันเยอะ เนื้อหามันกว้างมาก ๆ ขอบเขตก็ไม่รู้ว่ามันจะออกขนาดไหน พอมาดูเนื้อหาจริง ๆ แล้วเราก็น่าจะพอไหว พอทำได้ ผมจะมีโน้ตเล็ก ๆ จดไว้ก่อนสอบ จดไว้ว่าอันนี้ยังจำไม่ค่อยได้นะ ครูป๊อปบอกว่าถ้าจำแล้วยังจำไม่ได้ให้จดไว้ ไปจำเอาหน้าห้องสอบเลยเป็น Short-term memory เอาเข้าไปทำข้อสอบเลย ส่วนตัวผมว่าสังคมปีนี้ก็ค่อนข้างโหดอยู่ ทำไปก็อึ้งไป ๆ (ขำ)

เรียนพิเศษสังคมกับใคร?

สังคมเรียนครูป๊อปเลย คือครูป๊อปผมว่าดีมาก ๆ มาก มากกก คือที่ครูป๊อปสอนผมแบ่งเป็น 2 พาร์ตใหญ่ ๆ แล้วกัน พาร์ตเนื้อหาซึ่งจะแบ่งเป็น 5 วิชาคือ ภูมิศาสตร์ นิติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง  เศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ในแต่ละวิชาเขาก็จะแบ่งเป็นหัวข้อย่อยไปอีก ที่เป็นหัวข้อหลัก ๆ ออกข้อสอบบ่อย ๆ ก่อนที่เขาจะสอนในแต่ละบทเขาก็จะพูดภาพรวมให้เราฟังให้เราเข้าใจทั้งหมดก่อนแล้วค่อยลงลึกอีกที ซึ่งการลงลึกของเขาไม่ได้เป็นเนื้อหาที่กระจัดกระจาย เขาจะเน้นเป็น keyword ไป

เทคนิคการจำของครูป๊อปเป็นยังไง?

เทคนิคการจำของเขาจะมีให้จำเป็น keyword แบ่งเป็นตารางเปรียบเทียบซึ่งผมว่าพอเราเรียนบ่อย ๆ อ่านบ่อย ๆ มันจะทำให้เราจำได้ดีกว่าไปจำตัวหนังสือเยอะ ๆ แล้วเราจับจุดไม่ถูก ส่วนพาร์ทที่สองคือพวกโจทย์ ซึ่งผมว่าอันนี้มันก็สำคัญเหมือนกันนะ เพราะบางที่เขาเฉลยแค่ว่าอันนี้ตอบข้อนี้นะ ของครูป๊อปเขาบอกเสมอว่าการเรียนจากโจทย์จะมีเนื้อหาที่เขาแถมมาด้วยเสมอ ก็คือเขาจะหยิบเนื้อหาตรงนี้มาออกในปีหน้าด้วยก็ได้ ครูป๊อปจะเฉลยแทบจะทุก choice เลยที่มีมาในโจทย์นั้นถึงแม้มันจะไม่ใช่คำตอบก็ตาม เขาจะแทรกเนื้อหาตลอด

เรียนกับ AT HOME เป็นยังไงบ้าง?

ทำให้ลดเวลาในการเดินทางลงไป เพราะเราไม่ต้องมาถึงสยามก็ได้ เรียนที่บ้านก็ได้ เรียนที่ไหนก็ได้

ภาษาไทยเตรียมตัวยังไง ?

ส่วนใหญ่จริง ๆ ไม่ค่อยเรียนเนื้อหาเทท่าไร ทำข้อสอบเก่าไล่ ๆ มาจนถึงปี 63 

เคล็ดลับการทำข้อสอบภาษาไทย

ทุกครั้งที่เราทำข้อสอบเก่ารวมถึงในห้องสอบด้วย เราจะมีความไม่มั่นใจอยู่ เราไม่รู้ว่าไอ้ที่เราตอบไปมันจะไปตรงกับที่เขาต้องการเฉลยรึเปล่า ต้องอาศัยความมั่นใจตอนนั้นด้วยว่าเราคิดว่ามันจะถูกไหม ถ้าเกิดเราทำไปแล้วข้อนี้ไม่แน่ใจ ข้อนี้ก็ไม่แน่ใจ ตอนหลังที่เราไปทำมันจะมีความไม่มั่นใจสูง แล้วก็ตอนที่ผมทำ ผมจะข้ามพาร์ทที่เป็นพวกหลักภาษาไปก่อน ไปทำพวกอ่านจับใจความก่อนเพราะว่าจับใจความ ถ้าเราอ่านจบแล้วเราก็ยังได้คำตอบ คือถ้าหลักภาษาอย่างเช่นบางข้อก็ถามว่า ข้อใดสะกดผิดทุกคำ ถ้ารู้ก็รู้เลย ไม่รู้ก็ไม่รู้ เปลี่ยนมาทำทีหลังดีกว่ามีเวลาเหลือเยอะ ๆ เราค่อยมาทำ

หลังสอบเสร็จโล่งเลยไหม?

ตอนสอบเสร็จวิชาสามัญน่ะครับ รู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอกเลย เพราะมันโล่งแบบโล่งมาก ๆ เหลือความถนัดฯอย่างเดียวแล้ว ไม่ต้องอ่านเคร่งเครียดมากเท่า 7 วิชาสามัญ พอสอบเสร็จแล้วรู้สึก relax ให้ตัวเอง 1 วันแล้วค่อยไปอ่านหนังสือต่อ

เตรียมตัวความถนัดแพทย์ยังไงบ้าง?

ผมจะทำเชื่อมโยงก็คือ อาทิตย์นึงหยิบมาทำสักฉบับสองฉบับ ให้เราฝึกให้มัน active เรื่อย ๆ ส่วนเลขกับจริยธรรมก็ค่อย ๆ เก็บ ฝึกมาเรื่อย ๆ พอถึงวันจริงก็จะได้ไม่หนักมาก มาอัดตอนอาทิตย์สุดท้ายไม่ค่อย work สู้เก็บแต้มเอาดีกว่า

ตอนนั้นทำข้อสอบจริงรู้สึกยังไงบ้าง?

ทำข้อสอบจริงคือมันผ่อนคลายกว่าที่เราคิด มันไม่เหมือน 9 วิชาสามัญแล้วอะ ที่มันเครียดมาก ๆ มันค่อนข้างผ่อนคลาย ถ้ามีเครียด คือเป็นตัวเชื่อมโยง เพราะผมเป็นคนที่ทำเชื่อมโยงแล้วชอบทำแบบ เก็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ชอบลืม ชอบฝนผิด อย่างจริยธรรมจะไม่ค่อยกังวล เพราะเราเดาใจคนออกข้อสอบไม่ได้ว่ าเขาจะให้ข้อนี้ถูก หรือข้อนี้ผิด โดยภาพรวมจริยธรรมก็ไม่ได้เครียดมาก ส่วนเชาว์เลขก็ไม่ค่อยเครียดเท่าไหร่ เพราะว่าตอนไปทำจริง ๆ ก็รู้สึกว่าทำได้หลายข้อ ข้อไหนเราทำไม่ได้เราก็ข้ามเลย แล้วก็ดิ่งเลย

จริยธรรมได้คะแนนเท่าไหร่?

จริยธรรมผมได้ 56 เต็ม 30 ผมได้ 21

เชื่อมโยงได้คะแนนเท่าไหร่?

ก่อนคะแนนออก ผมกังวลตัวเชื่อมโยงมาก ๆ ไม่รู้ว่าจะบ้งหรือเปล่า เครียดนิดหน่อย ได้ประมาณ 88 มั้งครับ ถ้าจำไม่ผิด เลขผมว่าน่าจะได้เยอะอยู่

แพนิคไหม ก่อนวันสอบจริง?

คือผมไม่แพนิกเลยจนกระทั่งไปถึงวันก่อนสอบ 9 วิชาสามัญจริง ๆ เพราะว่า GAT / PAT / O-NET มันไม่ค่อยได้ใช้เยอะ ไปหนัก ๆ ที่ 9 วิชาฯ คือวันก่อนสอบก็เตรียมตัวทุกอย่างให้พร้อม มันจะไม่ค่อยแพนิกมากแล้วครับ

ก่อนวันสอบยังเตรียมตัวอยู่ไหม?

วันก่อนสอบผมนั่งอัดสังคมอยู่ให้มันผ่านตาเป็นรอบสุดท้าย จริง ๆ ก็ไม่ค่อยอ่านเยอะแล้ว เพราะมันต้องปล่อยสมองให้มันโล่ง ครูป๊อปเคยบอกไว้ว่าวันก่อนสอบเราต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมเลย ทั้งถุงเท้า เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์ทุกอย่าง คือถ้าวันสอบเราเตรียมนู่นเตรียมนี่ถ้าของมันหาย เราจะโทษตัวเองละว่าวันนี้ไม่ใช่วันของเรา ครูป๊อปก็จะบอกว่าเตรียมให้พร้อมนะ จะได้ไม่ต้องโทษตัวเอง รอลุยวันพรุ่งนี้ วันต่อไป

ฝากถึง #DEK65 ที่กำลังเตรียมตัวสอบหน่อย

อยากจะบอกน้อง ๆ ว่าสนามสอบมีผลมาก ๆ ที่ผมไปสอบที่เตรียมอุดมฯ มันจะมีห้องแอร์หมด บางที่อย่างเขตชานเมือง ปริมณฑล ผมว่ามันไม่ค่อยแฟร์เพราะว่าสนามสอบของเขามีแอร์บ้าง ไม่มีบ้าง เปิดพัดลมร้อน ๆ อบ ๆ อ้าว ๆ พอเราจะทำข้อสอบมันเสียสมาธิเพราะเราต้องไปกังวลกับตัวสภาพอากาศที่มันไม่เป็นใจให้เรา ผมก็เจอมากับตัวเลย นั่งสอบไทยอ่านไม่รู้เรื่อง นี่ผมว่ามันไม่ค่อยแฟร์กับทุกคน มันควรจะมีสนามสอบที่มันเท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่งั้นคะแนนสอบออกมามันก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่ อีกคนได้สนามสอบที่ดีกว่า อีกคนได้สนามสอบที่ด้อยกว่าทำให้ตอนสอบมันวัดกันไม่ได้มาก

บทความที่เกี่ยวข้อง
สรุปเนื้อหาตรรกศาสตร์ ม.4 
โพสต์เมื่อ :
รู้ก่อน เก่งก่อน สังคมศึกษา ม. 1 ต้องเรียนอะไร
โพสต์เมื่อ :
ติวเข้ม ข้อสอบ ฟิสิกส์ ม 4 ออกอะไรบ้าง
โพสต์เมื่อ :
พิชิตคะแนนฟิสิกส์แบบแม่นๆด้วย สูตรฟิสิกส์ ม 4
โพสต์เมื่อ :
สรุปย่อ “จำนวนจริง” พร้อมสูตรทั้งหมด ครบถ้วน เตรียมพร้อมสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบ...
โพสต์เมื่อ :
สรุปเรื่อง พหุนาม เอกนาม ม.1 พร้อมแบบฝึกหัดและเฉลย จัดเต็มพร้อมสอบ เกรดดีขึ้น...
โพสต์เมื่อ :