เนื้อหาวิทยาศาสตร์ ม. 3 หลักสูตรใหม่

Home > วิทยาศาสตร์ทั่วไป > เนื้อหาวิทยาศาสตร์ ม. 3 หลักสูตรใหม่
เขียนโดย :
โพสต์เมื่อ :

อ่านสรุปตรงนี้ได้เลย

สวัสดีครับ อย่างที่ทราบกันดีว่าวิชาวิทยาศาสตร์ได้มีการปรับปรงหลักสูตรใหม่ ในส่วนของเนื้อหา ให้มีความทันสมัยมากขึ้น สอดรับกับวิทยาการใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น โดยจากเดิมเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติม ในปี พ.ศ.2560 สำหรับใครที่สงสัยว่าวิทยาศาสตร์ ม.3 หลักสูตรใหม่ เรียนอะไรบ้าง มาดูกันเลยครับ

วิทยาศาสตร์ ม.3 เรียนอะไรบ้าง

เนื้อหาของ วิชาวิทยาศาสตร์ ม.3 มีโครงสร้างเนื้อหา และแบ่งตามเทอม ดังนี้

วิทยาศาสตร์ ม.3 เทอม 1

วิทยาศาสตร์ ม.3 เทอม 2

ในที่นี้ Athome จะยึดตามหนังสือเรียนของ สสวท. โดยมีการแบ่งหนังสือเรียนเป็น 2 เล่ม รวมทั้งหมด 7 หน่วยการเรียนรู้ แต่ละหน่วยมีเนื้อหาสาระคร่าวๆ ดังนี้ครับ

เนื้อหาวิทยาศาสตร์ ม. 3 เล่ม 1

หน่วยที่ 1 วิทยาศาสตร์กับการแก้ปัญหา

       ในหน่วยนี้จะได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ ทั้งในด้านการดำรงชีวิตและการแก้ไขปัญหาต่างๆ เรียนรู้และเข้าใจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

หน่วยที่ 2 พันธุศาสตร์

       ในหน่วยการเรียนรู้นี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพันธุศาสตร์ ซึ่งสิ่งมีชีวิตมีการถ่ายทอดลักษณะจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้ ลักษณะที่ถ่ายทอดนี้เรียกว่าลักษณะทางพันธุกรรม การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับดีเอ็นเอซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่อยู่ในนิวเคลียสของเซลล์

บทที่ 1 การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม

       เป็นการศึกษาและสำรวจตรวจสอบเกี่ยวกับโครงสร้างของโครโมโซม ความสัมพันธ์ระหว่างยีน ดีเอ็นเอ และโครโมโซม หลักการพื้นฐานของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของเมนเดลจากการผสมโดยพิจารณาลักษณะเดียว ตลอดจนคำนวณหาอัตราส่วนของจีโนไทป์และฟีโนไทป์ในรุ่นลูก โครโมโซมของมนุษย์ ความสำคัญของการแบ่งเซลล์แบบไม่โทซิสและไมโอซิส โรคทางพันธุกรรมและการใช้ประโยชน์จากความรู้เกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม ประโยชน์และผลกระทบของสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

หน่วยที่ 3 คลื่นและแสง

       จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับคลื่นกล ส่วนประกอบของคลื่น ความหมายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและสเปกตรัมของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ประโยชน์และอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แสง การสะท้อนของแสง การหักเหของแสง ความสว่าง รวมทั้งปรากฏการณ์ ทางแสงและการทำงานของทัศนอุปกรณ์

บทที่ 1 คลื่น

         คลื่นเกิดจากการส่งผ่านพลังงานจากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่งโดยอาศัยตัวกลางหรือไม่อาศัยตัวกลางก็ได้ สำหรับคลื่นกล จะถูกส่งผ่านตัวกลางโดยอนุภาคของตัวกลางไม่เคลื่อนที่ไปกับคลื่น คลื่นแผ่ออกมาจากแหล่งกำเนิดคลื่นอย่างต่อเนื่องและมีรูปแบบที่ซ้ำกัน บรรยายได้ด้วยสันคลื่น ท้องคลื่น ความยาวคลื่น ความถี่ แอมพลิจูด

       คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นคลื่นที่ไม่อาศัยตัวกลางในการส่งผ่านพลังงาน มีความถี่ต่อเนื่องเป็นช่วงกว้างมาก เคลื่อนที่ในสุญญากาศด้วยอัตราเร็วเท่ากัน แต่จะเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วต่างกันในตัวกลางอื่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบ่งออกเป็นช่วงความถี่ต่าง ๆ เรียกว่า สเปกตรัมของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ละช่วงความถี่มีชื่อเรียกต่างกัน ได้แก่ คลื่นวิทยุ ไมโครเวฟ อินฟราเรด แสง อัลตราไวโอเลต รังสีเอกซ์และรังสีแกมมา ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แตกต่างกัน ในขณะเดียวกันก็สามารถเกิดโทษต่อมนุษย์ได้อีกด้วย

บทที่ 2 แสง

       บทนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับแสง ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่อยู่ในช่วงความถี่ที่เราสามารถมองเห็นได้และทำให้มองเห็นวัตถุได้เมื่อมีแสงจากวัตถุนั้น ๆ เข้าตา แสงเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงในตัวกลางเดียวกัน เมื่อแสงตกกระทบวัตถุจะเกิดการสะท้อนซึ่งเป็นไปตามกฎ การสะท้อนของแสง การสะท้อนของแสงทำให้เกิดภาพได้โดยภาพเกิดจากการรวมกันของแสงสะท้อน เมื่อแสงเคลื่อนที่ผ่านตัวกลางที่แตกต่างกัน จะเกิดการหักเหที่บริเวณรอยต่อระหว่างสองตัวกลาง เนื่องจากอัตราเร็วของแสงเปลี่ยนไป

หน่วยที่ 4 ระบบสุริยะของเรา

       หน่วยการเรียนรู้นี้จะเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในระบบสุริยะ การโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ด้วยแรงโน้มถ่วง การสร้างแบบจำลองที่อธิบายการเกิดฤดูกาล การเคลื่อนที่ปรากฏของดวงอาทิตย์ การเกิดข้างขึ้น ข้างแรม การเปลี่ยนแปลงเวลาการขึ้นและตกของดวงจันทร์ การเกิดน้ำขึ้น น้ำลง และอธิบายการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศ พร้อมทั้งศึกษาความก้าวหน้าของโครงการสำรวจอวกาศ

บทที่ 1 ปฏิสัมพันธ์ในระบบสุริยะ

       บทเรียนนี้จะกล่าวถึงวัตถุในระบบสุริยะของเราที่ต่างก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยแรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นแรงดึงดูดระหว่างวัตถุที่มีมวล ขนาดของแรงโน้มถ่วงมีความสัมพันธ์กับขนาดของมวลของวัตถุทั้งสอง ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์โดยมีวงโคจรเป็นรูปวงรี โลกหมุนรอบตัวเองโดยแกนหมุนของโลกเอียง ในขณะเดียวกันก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะที่แกนหมุนของโลกเอียงคงที่ เมื่อโลกโคจรไปที่ตำแหน่งต่าง ๆ รอบดวงอาทิตย์จะทำให้บริเวณต่าง ๆ บนโลกได้รับปริมาณแสงจาก ดวงอาทิตย์แตกต่างกัน เกิดเป็นฤดูกาลของโลก และการที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกทำให้ทุกคนมองเห็นส่วนสว่างของดวงจันทร์แตกต่างกันในแต่ละวัน เกิดเป็นปรากฏการณ์ข้างขึ้น ข้างแรม  น้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งเป็นผลมาจากแรงโน้มถ่วงระหว่างโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์อีกด้วย

เนื้อหาวิทยาศาสตร์ ม. 3 เล่ม 2

หน่วยที่ 5 ปฏิกิริยาเคมีและวัสดุในชีวิตประจำวัน

       เรียนรู้เกี่ยวกับ การเกิดปฏิกิริยาเคมี มวลรวมของสารก่อนและหลังเกิดปฏิกิริยาเคมี การเปลี่ยนแปลงความร้อนของปฏิกิริยาเคมี ปฏิกิริยาเคมีที่พบในชีวิตประจำวัน ประโยชน์และโทษของปฏิกิริยาเคมีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว วิธีการป้องกันและแก้ปัญหาที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมี เรียนรู้วัสดุเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แตกต่างกัน

บทที่ 1 ปฏิกิริยาเคมี

       ปฏิกิริยาเคมีเป็นการเปลี่ยนแปลงของสารที่ทำให้เกิดสารใหม่ สารที่เข้าทำปฏิกิริยาเคมี เรียกว่า สารตั้งต้น ส่วนสารใหม่ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาเคมี เรียกว่า ผลิตภัณฑ์ ขณะที่เกิดปฏิกิริยาเคมี อะตอมของสารแต่ละชนิดไม่สูญหายหรือเกิดขึ้นใหม่ แต่มีการจัดเรียงตัวกันใหม่ มวลรวมของสารก่อนและหลังเกิดปฏิกิริยาเคมีจึงเท่าเดิม ซึ่งเป็นไปตามกฎทรงมวล ปฏิกิริยาเคมีนั้น มีทั้งที่เป็นประโยชน์และโทษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เราจึงต้องเรียนรู้การควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดจากปฏิกิริยาเคมีเหล่านี้

บทที่ 2 วัสดุในชีวิตประจำวัน

       บทเรียนนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัสดุที่เราคุ้นเคยและใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ พอลิเมอร์ เซรามิก โลหะ เป็นการศึกษาคุณสมบัติ ส่วนประกอบ ขั้นตอนต่างๆกว่าที่จะออกมาเป็นวัสดุชนิดหนึ่งและนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างหลากหลาย

หน่วยที่ 6 ไฟฟ้า

       เรียนรู้เกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าอย่างง่าย และปริมาณทางไฟฟ้า ได้แก่ กระแสไฟฟ้า ความต่างศักย์ไฟฟ้า ความต้านทานไฟฟ้า การใช้อุปกรณ์วัดค่าปริมาณทางไฟฟ้า การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกระแสไฟฟ้าและความต่างศักย์ไฟฟ้า วงจรไฟฟ้าแบบอนุกรมและแบบขนาน การคำนวณพลังงานไฟฟ้าและค่าไฟฟ้า และหน้าที่ของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ตัวต้านทาน ไดโอด ตัวเก็บประจุ และทรานซิสเตอร์

บทที่ 1 วงจรไฟฟ้าอย่างง่าย

       วงจรไฟฟ้าอย่างง่าย ประกอบด้วยแหล่งกำเนิดไฟฟ้า ตัวนำไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้า เมื่อต่อครบวงจรจะมีกระแสไฟฟ้าเคลื่อนที่จากขั้วบวกของแหล่งกำเนิดไฟฟ้าผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้วกลับมายังขั้วลบของแหล่งกำเนิดไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าคือปริมาณประจุไฟฟ้าที่เคลื่อนที่ผ่านตัวนำไฟฟ้าจากจุดที่มีศักย์ไฟฟ้าสูงไปยังจุดที่มีศักย์ไฟฟ้าต่ำในหนึ่งหน่วยเวลา มีหน่วยเป็นแอมแปร์ ซึ่งวัดค่ากระแสไฟฟ้าได้ด้วยแอมมิเตอร์ ส่วนความแตกต่างของศักย์ไฟฟ้าระหว่าง 2 จุด เรียกว่า ความต่างศักย์ไฟฟ้า มีหน่วยเป็นโวลต์ ซึ่งวัดค่าความต่างศักย์ไฟฟ้าได้ด้วยโวลต์มิเตอร์

ทที่ 2 ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน

       พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในหนึ่งหน่วยเวลา เรียกว่า กำลังไฟฟ้า มีหน่วยในระบบ SI เป็น จูลต่อวินาที หรือวัตต์ โดยพลังงานไฟฟ้าที่เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้คำนวณได้จากผลคูณระหว่างกำลังไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้ากับเวลาที่ใช้ ซึ่งสามารถนำมาคำนวณค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนได้ การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ถูกต้อง ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่ายสามารถทำได้โดยเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ถูกต้องกับค่าความต่างศักย์ไฟฟ้าที่ระบุไว้บนเครื่องใช้ไฟฟ้าและค่ากำลังไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งาน และควรใช้งานอย่างถูกวิธี

หน่วยที่ 7 ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

       หน่วยการเรียนรู้นี้เกี่ยวกับระบบนิเวศ องค์ประกอบของระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ การถ่ายทอดพลังงานผ่านโซ่อาหารและสายใยอาหาร และการสะสมสารพิษในสิ่งมีชีวิตในโซ่อาหาร รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ

บทที่ 1 ระบบนิเวศ

       ระบบนิเวศประกอบด้วยสิ่งมีชีวิต 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลายสารอินทรีย์ นอกจากนี้หากจำแนกผู้บริโภคตามลักษณะการบริโภคจะแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ สิ่งมีชีวิตกินพืช สิ่งมีชีวิตกินสัตว์ สิ่งมีชีวิตกินพืชและสัตว์ และสัตว์กินซาก ส่วนองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต เช่น ดิน น้ำ แสง ธาตุ

บทที่ 2 ความหลากหลายทางชีวภาพ

       บนโลกของเรามีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดและในแต่ละชนิดมีหลายพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมต่างกัน อาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่แตกต่างกันไป ทำให้เกิดเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ความหลากหลายของระบบนิเวศ ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิต และความหลากหลายทางพันธุกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพนี้มีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจะรักษาสมดุลได้ดีกว่าระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพต่ำกว่า

          หากน้องๆสนใจจะเรียนเนื้อหาวิชา วิทยาศาสตร์ ม.2 ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านติวเตอร์ที่มีประสบการณ์ สอนดี เข้าใจง่าย สามารถติดตามที่ช่องทางด้านล่างได้เลยครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง
สรุปเนื้อหาตรรกศาสตร์ ม.4 
โพสต์เมื่อ :
รู้ก่อน เก่งก่อน สังคมศึกษา ม. 1 ต้องเรียนอะไร
โพสต์เมื่อ :
ติวเข้ม ข้อสอบ ฟิสิกส์ ม 4 ออกอะไรบ้าง
โพสต์เมื่อ :
พิชิตคะแนนฟิสิกส์แบบแม่นๆด้วย สูตรฟิสิกส์ ม 4
โพสต์เมื่อ :
สรุปย่อ “จำนวนจริง” พร้อมสูตรทั้งหมด ครบถ้วน เตรียมพร้อมสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบ...
โพสต์เมื่อ :
สรุปเรื่อง พหุนาม เอกนาม ม.1 พร้อมแบบฝึกหัดและเฉลย จัดเต็มพร้อมสอบ เกรดดีขึ้น...
โพสต์เมื่อ :